search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515677
การเปิดหน้าเว็บ:9358732
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สั่งทุกสิทธิกำหนดยารักษามะเร็งมาตรฐานเดียวทุกกองทุน
  25 มีนาคม 2556
 
 


วันที่: 25 มีนาคม 2556
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000036206
    


       ประชุมบูรณาการมะเร็ง 3 กองทุนนัดแรกยังวนในอ่าง ได้แต่สั่งการบ้านให้ทุกสิทธิหาระดับยารักษามะเร็งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกกองทุน คาดประกันสังคมและบัตรทองอาจได้ใช้ยาราคาแพงขึ้น ตั้งเป้าเสนอเข้า ครม.ให้ทันประกาศใช้ 1 ต.ค.นี้ นำร่องมะเร็งปอด ตับ ปากมดลูก และเต้านมก่อน
       
       วันนี้ (25 มี.ค.) ที่สำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กทม. ศ.เมธี สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการการจัดบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนวทางการบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรก เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ วิธีการรักษา ระบบการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลและที่บ้าน รวมถึงระบบการส่งต่อรับกลับของแต่ละกองทุนให้เป็นมาตรฐานเดียว เพราะทุกวันนี้แต่ละกองทุนมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ โดยได้ตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้การดูแลโรคมะเร็งตั้งแต่การคัดกรอง การป้องกันระยะแรก และการรักษาของทั้ง 3 กองทุนนั้นมีมาตรฐานระดับหนึ่งที่เหมือนกัน ซึ่งจะต้องเป็นการดูแลรักษาตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่วิชาชีพแพทย์ยอมรับได้
       
       "ทั้งสามสิทธิยังคงมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ เช่น การเบิกยา การบูรณาการนี้จะพิจารณาว่าควรให้ยาตัวไหนที่ดีที่สุดในระดับหนึ่ง ซึ่งทั้งสามกองทุนก็จะต้องใช้ยานี้เหมือนกัน โดยจะให้แต่ละกองทุนต้องกลับไปพิจารณาว่า มะเร็งชนิดใดควรใช้ยาตัวใด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มประกันสังคมหรือบัตรทองอาจสามารถยกตัวเองขึ้นมาใช้ยาที่ไม่เคยเบิกได้มาก่อน รวมทั้งจะต้องไปพิจารณาด้วยว่าในแต่ละขั้นตอนของการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนั้นจะต้องใช้งบประมาณเท่าใดบ้าง" ศ.เมธี สุปรีดิ์ กล่าว
       
       ศ.เมธี สุปรีดิ์ กล่าวอีกว่า การเดินหน้าบูรณาการทั้ง 3 กองทุนแน่นอนว่าจะต้องของบประมาณเพิ่ม โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นประมาณ 5-10 ปี ซึ่งงบอาจจะต้องทุ่มลงไปในส่วนของการตรวจคัดกรองให้มาก เพราะเมื่อเรามีการป้องกันที่ดี ก็สามารถหยุดมะเร็งในระยะแรกได้ ในเวลา 10-15 ปีก็จะเริ่มมีความสมดุล งบประมาณที่ใช้ก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการบูรณาการสามกองทุนน่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้การบูรณาการทั้ง 3 กองทุนสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.2556
       
       ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่าการประชุมบูรณาการรักษาโรคมะเร็งครั้งนี้จะเป็นในภาพกว้างคือ ทำอย่างไรให้แนวทางการรักษามะเร็งของ 3 กองทุนไปในแนวทางเดียวกัน เบื้องต้นทำในกลุ่มโรคเป็นมากก่อน ซึ่งข้อมูลแนวโน้มและการคาดการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในปี 2556-2558 พบว่า ทุกสิทธิมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 12,539 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 9,235 คน ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งตับทุกสิทธิ จำนวน 13,279 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยมะเร็งปอดทุกสิทธิ จำนวน 10,281 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 6,514 คน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกสิทธิจำนวน 21,002 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 15,593 คน ขณะที่ในปี 2555 มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งสะสมที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ 2.5 ล้านคน ได้รับการรักษา 127,000 คนต่อปี เพิ่มขึ้นปีละ 5-7% จึงคาดว่าจะเริ่มจากมะเร็งปอด มะเร็งตับ ในผู้ป่วยชาย และมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยหญิงก่อน
       
       ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า การปรับให้การรักษาของทั้ง 3 กองทุนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน มีมาตรฐานการดูแลรักษาเหมือนกัน จะช่วยให้แพทย์ไม่ต้องพะวงว่าแต่ละสิทธิมีแนวทางการรักษาอย่างไร ก็จะทำให้การบริการเป็นไปอย่างต่อเนื่องในแนวทางเดียวกัน และเมื่อมีการย้ายสิทธิก็จะทำให้ได้รับการดูแลรักษาเหมือนเดิมทุกประการ