search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517517
การเปิดหน้าเว็บ:9360694
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  "คนไทยพึ่งพายาฆ่าเชื้อมากเกินไป..จริงหรือ?" ตอนที่ 1
  16 ธันวาคม 2555
 
 


วันที่: 16 ธันวาคม 2555
ที่มา: เดลินิวส์
ลิงค์: www.dailynews.co.th/article/1490/172535



"คนไทยพึ่งพายาฆ่าเชื้อมากเกินไป..จริงหรือ?" ตอนที่ 1 - ชีวิตและสุขภาพ

ด้วยความเป็นแพทย์ ทำให้หลายต่อหลายครั้งมีคนไข้มาถามผมว่า ’เป็นไข้หวัด จะกินยาฆ่าเชื้อได้ไหม? หรือมีบาดแผลติดเชื้อ อักเสบ จะกินยาฆ่าเชื้อชนิดใด?“ บางท่านยังไม่ทันได้คำตอบ ก็ไปซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้อักเสบตามร้านขายยามากินเองเสียแล้ว
   
เหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับคนบางกลุ่ม แต่กำลังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของไทยเราครับ เพราะปัจจุบันพบว่าคนไทยมีการใช้ยากันอย่างไม่สมเหตุสมผล หรือใช้ยากันอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งนอกจากจะทำให้ตนเองเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุแล้ว ยังส่งผลเสียถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยเราด้วยครับ
   
วันนี้ผมจึงหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ยามาบอกเล่าให้ฟัง เพื่อให้ทุกคนได้ทราบข้อเท็จจริงและเข้าใจอย่างชัดเจนว่าเราควรจะใช้ยากันอย่างไรจึงจะเรียกว่า สมเหตุสมผล และขอเน้นหนักไปที่เรื่องของยาฆ่าเชื้อครับ เพราะดูจะเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของสังคมไทยในขณะนี้
   
ไม่ว่าจะเป็นคนในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด เมื่อมีการเจ็บไข้ไม่สบาย ประชาชนมักไปซื้อหายาใช้เอง ตามร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ “นพ.กำธร มาลาธรรม” จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ตัวแทนจากโครงการพัฒนาระบบการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ให้ข้อมูลว่า “จริง ๆ แล้วยามีหลายประเภท แต่ยาที่ประชาชนสามารถจะใช้เองได้อย่างปลอดภัยนั้น สังเกตง่าย ๆ คือเป็นยาที่อยู่ในชุดยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือยาที่ใช้รักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด รวมถึงยาใช้ภายนอกทั้งหลาย เหล่านี้เป็นยาที่เรา ๆ ท่าน ๆ สามารถซื้อหามาใช้เองได้อย่างปลอดภัยครับ ส่วนยาประเภทอื่น เช่น ยาฆ่าเชื้อ, ยาแก้อักเสบ ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วยาเหล่านี้มักจะมีข้อบ่งใช้และรายละเอียดระบุไว้ข้างขวดหรือข้างซองยา เช่น ถ้าระบุไว้ว่าเป็นยาอันตราย อันนี้ก็จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ความเจ็บป่วยของคนเราที่พบบ่อย ๆ ก็จะมีไข้หวัด หรือเป็นแผล ฝี หนอง รวมถึงท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้ สามารถใช้ยารักษาตามอาการในเบื้องต้นได้ก่อน เช่น ยาพาราเซตามอล แต่ก็ไม่ควรใช้มากเกินวันละ 8 เม็ด”
   
แต่ปัญหาในปัจจุบันดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้นคือ คนมักจะสับสนกันว่า อะไรคือยาแก้อักเสบ อะไรคือยาฆ่าเชื้อ และยาประเภทไหนคือยาปฏิชีวนะ และยาเหล่านี้มีข้อบ่งใช้อย่างไร?
   
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า จริง ๆ คำพวกนี้เป็นคำที่ใช้กันมานานแล้ว บ้างก็สับสนเรียกสลับกันไปมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่คำที่คนใช้มากที่สุดเวลาพูดถึงยาฆ่าเชื้อก็มักจะเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” แต่ในความหมายจริง ๆ แล้ว การอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว มันสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง...ยาแก้อักเสบมีฤทธิ์แก้อักเสบเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ไปฆ่าเชื้ออะไรเลย เพราะฉะนั้นการเรียกยาฆ่าเชื้อว่ายาแก้อักเสบฟังดูง่าย แต่จริง ๆ แล้วคือผิดความหมาย
     
อธิบายง่าย ๆคือ ถ้ามีการติดเชื้อที่อวัยวะหรือบริเวณใดของร่างกายก็มีจะมีการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน แต่ถ้าไม่ได้ติดเชื้อก็สามารถเกิดการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีการอักเสบโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแล้วไปกินยาฆ่าเชื้อ ก็ไม่เกิดประโยชน์
   
การจะใช้ยาฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิ ภาพและคุ้มค่าที่สุดนั้น ก่อนอื่นเลย เราต้องมีความเข้าใจก่อนว่ามันคือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้มีไว้สำหรับรักษาอาการอักเสบทั่วไป และที่เราเข้าใจว่ายาฆ่าเชื้อมีไว้สำหรับรักษาอาการอักเสบก็เพราะว่า เมื่อติดเชื้อแล้วมันมีอาการบวมแดงอักเสบ พอกินยาฆ่าเชื้อเข้าไป ยาก็เข้าไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียทำให้อาการอักเสบบวมแดงหายไป เราก็เลยเข้าใจว่ามันคือยาแก้อักเสบ จึงเป็นที่มาของการเรียกสลับสับสนระหว่างยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อ และบางครั้งคนไข้เข้าใจว่าเมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออักเสบต้องกินยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ
   
ส่วนคำว่า “ยาปฏิชีวนะ” กับ “ยาฆ่าเชื้อ” อันนี้คือยาชนิดเดียวกันครับ ซึ่งผมว่าเราน่าจะใช้คำว่ายาฆ่าเชื้อ ดูจะตรงและเข้าใจได้ง่ายกว่า    
   
อีกกรณีหนึ่งคือ เวลาคนไข้ไปหาหมอและอธิบายอาการให้ฟังว่า มีไข้ น้ำมูกข้นเขียว และมีอาการเจ็บคอด้วย แต่เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อให้ คนไข้มักไม่สบายใจ และเข้าใจว่าตนเองไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม กรณีเช่นนี้เราพบได้บ่อย ซึ่งเป็นงานหนักที่แพทย์ต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับคนไข้ให้ชัดเจน
   
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาข้อสำคัญก็คือ “เชื้อดื้อยา” ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเชื้อโรคเจอยา มันก็จะปรับตัวเพื่อให้ตัวมันเองอยู่รอด ซึ่งการที่เชื้อปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่มียาอยู่นั้นเราเรียกว่า  เชื้อดื้อยา ดังนั้นถ้าเชื้อโรคเกิดการดื้อยาแล้ว ไม่ว่าเราจะรับประทานยาไปมากแค่ไหน เชื้อก็ยังคงสามารถเจริญเติบโตได้อยู่ โรคที่เราเป็นจึงไม่หาย หนัก ๆ เข้าถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการซื้อหายารับประทานเอง สามารถเกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งในวงการแพทย์กำลังเป็นห่วงถึงผลข้างเคียงข้อนี้มาก
   
ข้อมูลจาก รายการ “สุขภาพดี 4 วัย” ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เรื่อง “การพึ่งพายาฆ่าเชื้อ” ทางสถานีเดลินิวส์ทีวี ทุกวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 15.00-16.00 น.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์